ใครจะคิดว่า โรงพยาบาลประจำอำเภอเล็กๆ ขนาด 10 เตียง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วแห่งนี้ ซึ่งสาธารณูปโภคและการคมนาคมไม่เอื้ออำนวย ประชาชนเข้าถึงลำบาก จะกลายมาเป็นโรงพยาบาลต้นแบบการทำ “กายภาพบำบัดเชิงรุก” เพื่อดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยกายภาพบำบัดในพื้นที่กว่า 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน
“ท่าคันโทโมเดล” ที่มีหัวใจสำคัญคือ “ศูนย์โฮมสุข” การทำงานกายภาพบำบัดเชิงรุก ที่เกิดจาก “พลังชุมชน” อย่างแท้จริง
กายภาพบำบัดเชิงรุกนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างบุคลากรนักกายภาพบำบัดเชิงรุก ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จาก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ปฏิวัติหลักสูตรการสอน โดยใส่ “หัวใจความเป็นมนุษย์” การเรียนแบบ “จิตตปัญญาศึกษา” และ “Interprofesional Education (IPE) หรือ สหวิชาชีพ” ที่บูรณาการทุกวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข เข้ากับปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน จนสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ “นักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่” ที่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านสาธารณสุขเชิงรุก