สธ. หนุน ม.อุบลฯ สร้าง “ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง” ช่วยปฏิรูประบบสุขภาพไทยให้เป็นธรรม
9 กุมภาพันธ์ 2017

       กลายเป็นประเด็นที่ต้องตระหนักอย่างจริงจัง เมื่อภาพรวมระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหลายสาเหตุ ทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โรคอุบัติใหม่ หรือแม้แต่ภัยพิบัติ ฯลฯ ปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ การทำงานในเรื่องนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งคงต้องเริ่มจากการปฎิรูปการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ ที่ถือเป็นฐานรากของการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งปวง

       งานสัมมนา “การปฎิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21” ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ม.อบ.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน จึงกลายเป็นหนึ่งกลไกช่วยขับเคลื่อน ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฎิรูปการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพรูปแบบใหม่ “ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง” (TRANSFORMATIVE LEATNING) ให้แก่เครือข่ายด้านสุขภาพกว่า 300 คน

       ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การปฎิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนตั้งแต่รูปแบบ วิธีการ และเนื้อหาสาระของการศึกษา รวมถึงกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ที่สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและการปฎิบัติงานจริงในระบบสุขภาพ โดยไม่ทำให้ความรู้ด้านเทคนิคและวิชาการบกพร่อง ตลอดจนจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรสุขภาพในด้านต่างๆ ให้พร้อมต่อการทำงานเป็นทีมอย่างกลมกลืนและเข้มแข็ง จนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์คือกำลังคนในระบบสุขภาพของไทยเปี่ยมคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน

       ขณะที่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ประธาน ศสช. ขยายความให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า บัณฑิตและบุคลากรที่อยู่ในวิชาชีพสุขภาพที่มีคุณลักษณะแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟจะกลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการขับเคลื่อน ที่หนุนให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจการป้องกันการเกิดโรคและสร้างแผนสุขภาพของตัวเองซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เนื่องจากระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยในปัจจุบันรัฐบาลใช้ภาษีของประชาชนในการดูแล แต่ในอนาคตอาจบานปลายและไม่ทั่วถึง จึงต้องสร้างบรรยากาศทรานส์ฟอร์มเมทีฟให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เล็กสุดอย่างชุมช่น

       ด้าน นพ.นิรันดร์ พิกษ์วัชระ คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. กล่าวว่า การปฏิรูปในข้างต้นต้องอาศัยระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ปี จึงต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ โดยทางวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนหน่วยกิตและวิชาที่ต้องลงพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฯลฯ จากเดิมมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 เพื่อให้กลุ่มนักศึกษาได้ฝึกภาคปฏิบัติจากพื้นที่จริงให้มากขึ้น หากทำสำเร็จคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระดับชาติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เช่น ขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขในถิ่นทุรกันดาร ความไม่เป็นธรรมของระบบสุขภาพ เป็นต้น

       ทั้งนี้ ผลการสัมมนาปฏิรูปการสอนบุคลากรสุขภาพจะถูกขยายไปยังเครือข่ายสุขภาพอำเภอ เขตสุขภาพที่ 10 ทั้งเขต และทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้าง 1 เครือข่ายสุขภาพอำเภอ ต่อ 1 เขตพื้นที่

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

download หน้าข่าวได้ที่ : http://www.healthprofessionals21thailand.org/wp-content/uploads/2016/11/ข่าวB-แนวหน้า.pdf

READS :1,368 views